วิเคราะห์แนะนำลูกจ้างนายจ้างสถานการณ์โควิด19 รอบ 3
1. ลูกจ้างติดเชื้อโควิด-19 ต้องทำการตรวจรักษาและกักตัว นายจ้างควรให้ลูกจ้างลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างปีละไม่น้อยกว่า 30 วัน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 32 และอาจให้พนักงานลาหยุดพักผ่อนประจำปี(พักร้อน) ได้อีกโดยได้รับค่าจ้าง
2. ลูกจ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยง (ไปสถานที่เสี่ยง หรือสัมผัสผู้ป่วยโควิด-19) แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ได้รับเชื้อหรือไม่ (อยู่ในข่ายผู้ต้องสงสัยว่าได้รับเชื้อหรือไม่) นายจ้างสามารถสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานอันเนื่องจากกรณีมีความจำเป็นโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ เนื่องจากไม่ใช่เหตุสุดวิสัยต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวได้โดยให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 75
3. นายจ้างถูกรัฐสั่งปิดกิจการไม่สามารถให้ลูกจ้างทำงานได้ นายจ้างสามารถสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานอันเนื่องจากกรณีมีความจำเป็นโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ เพราะเหตุสุดวิสัย ต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวโดยนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้างหรือเงินใดๆ ให้แก่ลูกจ้าง โดยลูกจ้างสามารถติดต่อขอรับเงินประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพราะเหตุสุดวิสัยในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างต่อสำนักงานประกันสังคม
หมายเหตุ **พนักงานที่ป่วยติดเชื้อโควิด-19 และพนักงานกลุ่มเสี่ยงที่ไปในสถานที่เสี่ยงและหรือสัมผัสผู้ป่วยใกล้ชิดผู้ป่วย ปกปิดบริษัทฯ อาจมีความผิดจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย และหรือฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับอันเกี่ยวกับการทำงาน คำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างเป็นกรณีร้ายแรง นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และไม่ถือเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม